free geoip

ข้อเสนอจัดการน้ำ ฉบับเร่งด่วน จากผู้แทนคนพื้นที่


น้ำท่วมเป็นปัญหาซ้ำซากของประเทศไทย การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน เป็นเรื่องจำเป็นแต่ไม่เพียงพอ การป้องกันและรับมือปัญหานี้ในระยะยาว ต้องมีการบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งระบบ

วานนี้ (29 ส.ค.) สส.พรรคประชาชน ซึ่งลุยติดตามสถานการณ์น้ำมาต่อเนื่อง จึงเสนอญัตติด่วนเพื่อสะท้อนปัญหาที่ประชาชนในพื้นที่กำลังเผชิญ และชวนมองไปข้างหน้าโดยเฉพาะระยะ 2 เดือนต่อจากนี้ รัฐบาลควรทำอะไรเพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากมวลน้ำและมรสุมที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ

ไล่มาตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ ลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำภาคเหนือ ลุ่มน้ำภาคกลาง จนถึงปัญหาน้ำทะเลหนุนบริเวณอ่าวไทย สรุปใจความของข้อเสนอพรรคประชาชนได้ว่า การบริหารจัดการน้ำ ไม่ว่าน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง คือการต้อง “หาที่ให้น้ำอยู่ หาทางให้น้ำไป”

ข้อเสนอทั้งหมดจะถูกส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการ ซึ่งเราคาดหวังจะเห็นความชัดเจนของรัฐบาลในการบริหารจัดการภัยพิบัติ ผ่านการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยเร็วที่สุด





หวัง ครม. ชุดใหม่แถลงนโยบาย ชัดเจนแผนรับมือภัยพิบัติของประเทศ

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ จ.เชียงราย เมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ที่ อ.เวียงแก่น, อ.ขุนตาล และ อ.เทิง เพียงจังหวัดเดียวพบว่ารายละเอียดของปัญหาแตกต่างกัน 

ที่เวียงแก่นเกิดจากน้ำป่า แต่ที่ อ.ขุนตาล และ อ.เทิง เป็นพื้นที่ตรงกลางระหว่างกว๊านพะเยาที่รับน้ำมาจากลุ่มน้ำอิงไหลออกสู่แม่น้ำโขง ประชาชนหลายคนสะท้อนว่าเกิดมา 70-80 ปี ไม่เคยท่วมหนักขนาดนี้มาก่อน 

ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะเชียงรายอยู่ตรงกลาง น้ำจากแม่อิงก็สูง น้ำโขงก็สูง ทำให้เชียงรายท่วมสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งปัญหานี้เกี่ยวข้องกับโครงการสร้างเขื่อนปากแบงซึ่งอยู่นอกพื้นที่ประเทศไทย เราจึงจำเป็นต้องมีเวทีในการจัดการลุ่มน้ำโขง ที่วันนี้เชื่อว่ายังไม่มีการเจรจาหารือกับประเทศจีนอย่างเต็มที่ เพราะจีนยังไม่ได้เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 

สำหรับ 5 หัวข้อสำคัญ ที่คิดว่า ครม. รักษาการชุดนี้และชุดต่อไป จะต้องจริงจังกับการแก้ไขปัญหาทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาว ประกอบด้วย

🟠ข้อแรก การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุที่มีอยู่แล้วแต่ไม่เคยถูกซักซ้อม เวลา 2 เดือนต่อจากนี้ที่ยังอยู่ในหน้าน้ำ มีโอกาสที่ฝนจะตกหนักไหลทะลักเข้าสู่ภาคกลางมากขึ้น ทำอย่างไรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศได้ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ ถึงเวลาเมื่อภัยพิบัติมาถึง จะพร้อมลงมือปฏิบัติทันที

🟠ข้อสอง รัฐบาลต้องมีความชัดเจนในมาตรการการเยียวยา แน่นอนว่าต้องมีบางพื้นที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ จะทำอย่างไรให้มาตรการเยียวยามีความชัดเจน ประชาชนได้รับการชดเชยเยียวยาทันทีและทั่วถึง 

🟠ข้อสาม การวางแผน ทำอย่างไรให้เรามองเห็นระบบการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ จากโขงสู่ภาคเหนือ ภาคกลาง ก่อนไหลออกสู่อ่าวไทย

🟠ข้อสี่ เวทีในการเจรจา เรื่องลุ่มน้ำโขงไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่เราต้องใช้เวทีเจรจานานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ที่วันนี้เราอาจยังไม่ได้คุยกับเขามากเพียงพอ 

🟠ข้อห้า การบูรณาการข้อมูลภาครัฐและภาคเอกชนในการจัดทำระบบแจ้งเตือนภัยแห่งชาติ


“ขณะนี้อยู่ในช่วงการรักษาการของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน แต่ผมคาดหวังและอยากเห็นเป็นอย่างยิ่งว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ จะมีความชัดเจนในแผนการรับมือภัยพิบัติของประเทศในอนาคต”





พื้นที่ต้นน้ำ: ดูแลเส้นเลือดฝอยระดับลุ่มน้ำ มากกว่ามุ่งโครงการขนาดใหญ่

คริษฐ์ ปานเนียม สส.ตาก เขต 1 พูดถึงสถานการณ์ ณ พื้นที่ต้นน้ำ ปิง-วัง-ยม-น่าน ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี โดยจำแนกปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ออกเป็น 5 ข้อ

(1) ต้นไม้และป่า หายไป

(2) ดินอุ้มน้ำได้น้อยจนเกิดการอิ่มตัวของพื้นดิน เกิดน้ำไหลบ่ากลายเป็นน้ำป่า

(3) ขาดมาตรการป้องกันตั้งแต่ระยะต้นน้ำและกลางน้ำ

(4) ขาดการบริหารงานในระบบราชการที่ดี อุ้ยอ้ายล่าช้าในการประกาศภัย

(5) การชอบทำโครงการขนาดใหญ่ แต่ไม่ตอบโจทย์กับสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

หน่วยงานอย่าง ปภ. ยังเน้นบรรเทามากกว่าการป้องกัน ปีนี้จัดงบเตรียมไว้ในส่วนของงานป้องกัน 50 ล้านบาท แต่ส่วนงานเยียวยาและบรรเทา มีงบกว่า 400 ล้านบาท ดูแบบนี้เหมือนรู้ล่วงหน้าว่ายังไงก็ท่วม เพราะไม่ได้ป้องกันเพิ่มขึ้นเลย

จึงขอยกตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำในส่วนแม่น้ำวังตอนล่างเพื่อเตรียมการรับมือพายุฝนในแบบฉบับพรรคประชาชน เพื่อช่วยเหลือประชาชนตลอดแนวแม่น้ำและเพิ่มการบริหารจัดการน้ำในการส่งน้ำสู่ภาคกลางดังนี้

🟠ระยะสั้น ร่วมกันกับ สทนช. และชลประทาน ผ่องถ่ายน้ำออกจากเขื่อนกิ่วลม-เขื่อนกิ่วคอหมา ที่อยู่ต้นทาง ด้วยระยะเวลามากกว่า 2 เดือนก่อนเข้าสู่ฤดูฝน โดยการตั้งจุดสังเกตการไหลของน้ำที่ปลายสุดแม่น้ำเพื่อตรวจวัดปริมาณการไหล ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำปิง เพื่อเตรียมการรับปริมาณน้ำใหม่ที่จะเข้ามาในช่วงหน้าฝน

🟠ระยะกลาง วางแผนร่วมกับกรมเจ้าท่าและสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง เพื่อซ่อมแซมแนวตลิ่งที่ชำรุดเสียหาย ด้วยการเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ทำให้แข็งแรงมากกว่าเดิม

🟠ระยะยาว ทำการขุดลอกลำน้ำเพื่อรองรับปริมาณน้ำให้ได้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำ รวมถึงทำให้เกิดฐานข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ตัดสินใจโดยใช้ชุดข้อมูลที่เป็นจริง การเตือนภัยที่เป็นรูปธรรม ประชาชนเข้าใจง่าย และหากจะแก้แล้งด้วยในคราวเดียวกัน ก็ควรมีอ่างเก็บน้ำที่ต้นทางเพื่อเก็บน้ำส่วนเกินไว้ใช้ในช่วงแล้ง บริหารจัดการน้ำให้ได้ประโยชน์มากที่สุด


“วันนี้เรายังจัดการน้ำเหนือไม่ได้เลย ถ้าเรายัง ‘หาที่ให้น้ำอยู่’ ไม่ได้ ถ้าเรายัง ‘หาทางให้น้ำไป’ ยังไม่ดีพอ การโยกน้ำสู่ลำน้ำสาขา แก้มลิง อ่างเก็บน้ำ คลองส่งน้ำ คลองไส้ไก่ ระบบเส้นเลือดฝอยยังมีปัญหาอุดตัน” 


จึงขอให้คณะรัฐมนตรีคิดวางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยการจัดการดูแลในระดับลุ่มน้ำ มากกว่าการมุ่งเน้นโครงการขนาดใหญ่ และหวังว่าสภาฯ แห่งนี้จะไม่ต้องตั้งญัตติด่วนเรื่องน้ำท่วมกันทุกปีจนชาชิน





พื้นที่ลุ่มน้ำโขง: ไทยต้องทำการทูตเชิงรุก ออกแบบการจัดการน้ำโขงทั้งระบบ ผ่านกลไกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง

แม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างประเทศไทยและลาวความยาวกว่า 1,520 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านภาคเหนือ เริ่มต้นจากจุดที่เรียกว่าสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ทอดยาวมาจนถึงแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย และช่วงที่สองคือแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านภาคอีสาน เริ่มต้นที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ผ่านจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และสิ้นสุดที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

สำหรับแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านภาคเหนือ จุฬาลักษณ์ ขันสุธรรม สส.เชียงราย เขต 6 พรรคประชาชน ร่วมอภิปรายว่า แม่น้ำโขงส่วนนี้มีเขื่อนจินหงตั้งอยู่เหนือน้ำในเขตประเทศจีน ห่างจากพรมแดนไทยไปประมาณ 200 กิโลเมตร ช่วงที่ผ่านมาเขื่อนจินหงมีการระบายน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มขึ้นในช่วงวันที่ 19-23 ส.ค. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยเกิดฝนตกหนัก และมีน้ำท่วมสูงในแม่น้ำอิงและแม่น้ำงาว จังหวัดเชียงรายและพะเยา ซึ่งเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้การระบายน้ำในแม่น้ำอิงและแม่น้ำงาวลงในแม่น้ำโขงทำได้ยากขึ้น

ยิ่งในอนาคต หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงขึ้นในประเทศลาว ซึ่งห่างจากจุดพรมแดนไทยที่ผาได อำเภอเวียงแก่นประมาณ 96 กิโลเมตร ก็อาจจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ “น้ำเท้อ” หรือระดับน้ำในลำน้ำโขงยกตัวสูงขึ้น และมีอัตราการไหลช้าลง ซึ่งจะยิ่งทำให้การระบายน้ำของแม่น้ำสาขาของลำน้ำโขงในประเทศไทย ไม่ว่าแม่น้ำกก แม่น้ำอิง หรือแม่น้ำงาว ระบายลงแม่น้ำโขงได้ยากขึ้นไปอีก

การที่ประเทศไทยไม่สามารถมีส่วนร่วมกำกับอัตราการไหลของแม่น้ำโขงให้เป็นไปตาม (หรือใกล้เคียง) ธรรมชาติ ทั้งในส่วนต้นน้ำ (เขื่อนจินหง) และปลายน้ำ (เขื่อนปากแบง) ก็จะทำให้แม่น้ำโขงในระยะ 180 กิโลเมตรนี้มีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำที่ประเทศไทยไม่สามารถควบคุมได้

สำหรับแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านภาคอีสาน ณกร ชารีพันธ์ สส.มุกดาหาร เขต 2 พรรคประชาชน ร่วมอภิปรายว่า ภาคอีสานก็ประสบปัญหาไม่ต่างจากภาคเหนือ นั่นคือปัญหาความผันผวนของแม่น้ำโขงอันเกิดจากการสร้างเขื่อนขวางกั้นลำน้ำ ทำให้กระแสน้ำไหลแบบไม่เป็นไปตามสภาพธรรมชาติ ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อวิถีชีวิตชาวบ้านที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำในการอุปโภคบริโภค ทำการเกษตร และทำการประมง

ที่สำคัญคือ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ผันผวนยังส่งผลให้การระบายน้ำจากแม่น้ำสาขาในภาคอีสาน เช่น แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ทำได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดเหตุน้ำหลากท่วมพื้นที่เมืองและพื้นที่เกษตรในจังหวัดต่างๆ อยู่เป็นประจำทุกปี สร้างความเสียหายนับไม่ถ้วน อีกทั้งระบบการแจ้งเตือนภัยของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก็ขาดความละเอียดแม่นยำ โดยตลอดลำน้ำโขงที่ไหลผ่านชายแดนไทยกว่า 1,520 กิโลเมตร มีการติดตั้งสถานีวัดน้ำเพียง 6 จุดเท่านั้น 

จากปัญหาเหล่านี้ จุฬาลักษณ์และณกรจึงมีข้อเสนอร่วมกันถึงรัฐบาล 3 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำโขง คือ

(1) รัฐบาลต้องทำงานการทูตเชิงรุก ผ่านกลไกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) ซึ่งประกอบด้วยไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม เมียนมา และจีน เพื่อร่วมกันออกแบบการจัดการน้ำในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาทั้งระบบ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลระดับน้ำ ข้อมูลการเตือนภัย และการตรวจสอบรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่ละเอียดรอบคอบและตรงไปตรงมา

(2) เพิ่มจุดวัดระดับน้ำ ทั้งในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาในภาคเหนือและภาคอีสาน เพื่อให้มีข้อมูลการเตือนภัยที่ละเอียดแม่นยำ ลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน

(3) รัฐบาลต้องสร้างความชัดเจนต่อนโยบายพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะต้องพิจารณาว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนต่างๆ ที่กั้นขวางแม่น้ำโขงในประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการกระทำที่เหมาะสมตามหลักสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เพราะยังไม่มีการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่อย่างรอบด้าน





พื้นที่ภาคอีสาน: เร่งเสริมพนังกั้นน้ำ ติดตามสถานการณ์และเตือนภัยประชาชนอย่างทันท่วงที

อิทธิพล ชลธราศิริ สส.ขอนแก่น เขต 2 พรรคประชาชน ร่วมอภิปรายว่า สถานการณ์ในภาคอีสานมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยพิบัติน้ำท่วมในเดือนกันยายน เนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นที่ราบสูงแอ่งกระทะ จึงไม่สามารถสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำให้มีความลึกและความจุได้มากเท่ากับภาคอื่น เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ในจังหวัดขอนแก่นมีความยาวมากกว่าเขื่อนภูมิพลในจังหวัดตาก แต่กลับกักเก็บน้ำได้น้อยกว่า 5 เท่า อันเป็นเหตุให้เมื่อมีฝนตกลงมามากกว่าปกติในภาคอีสาน น้ำก็จะหลากท่วมพื้นที่ได้ง่ายและรวดเร็วกว่า ส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกรรม ปศุสัตว์ หมู่บ้านชุมชน และพื้นที่ทางเศรษฐกิจ

ยกตัวอย่างกรณีอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ ที่อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งรับน้ำเกินความจุจนแตกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าบ้านเรือนประชาชน เหตุการณ์นี้เกิดจากพายุที่พัดเข้าภาคอีสานเพียงลูกเดียว ซึ่งหากเข้าเดือนกันยายนที่จากสถิติภาคอีสานจะเผชิญปริมาณน้ำฝนมากกว่าทุกเดือน ความเสี่ยงก็จะยิ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ พื้นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลก็น่ากังวล เพราะส่วนใหญ่ไม่มีพนังกั้นน้ำ เมื่อปริมาณน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงจนระบายลงแม่น้ำโขงไม่ทัน ก็จะเกิดการหลากท่วมบ้านเรือนประชาชนได้ง่าย โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีและยโสธรที่นอกจากจะไม่มีพนังกั้นน้ำแล้ว พื้นที่รับน้ำบางส่วนยังถูกพัฒนาเป็นเมืองและบ้านจัดสรร จึงมีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ สร้างความเสียหายเป็นวงกว้างดังที่เคยเกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ด้วยเหตุนี้ อิทธิพลจึงมีข้อเสนอถึงรัฐบาล ให้เร่งเสริมพนังกั้นน้ำในจุดเสี่ยงบริเวณลุ่มแม่น้ำชีและมูลโดยเร็ว รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์ระดับน้ำในภาคอีสานอย่างใกล้ชิด และเตือนภัยพี่น้องประชาชนให้ทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นให้เหลือน้อยที่สุด





พื้นที่ภาคกลาง: ดูแลจุดเปราะบาง ทุ่งรับน้ำ – พื้นที่นอกแนวคันกั้นน้ำ – เส้นทางผันน้ำลงทะเล

ภาคกลางเป็นพื้นที่ต่อไปที่ต้องเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วม รับมวลน้ำจากภาคเหนือ โดยแต่ละจังหวัดมีความท้าทายแตกต่างกัน

เริ่มที่ ทวิวงศ์ โตทวิวงศ์ สส.อยุธยา เขต 1 พรรคประชาชน เสนอแนวทางแก้ปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางเพื่อเตรียมรับมือมวลน้ำจำนวนมากที่ตอนนี้กำลังกำลังส่งผลกระทบในจังหวัดทางภาคเหนือ เพราะสถานีถัดไปของมวลน้ำเหล่านั้นคือพื้นที่ลุ่มภาคกลางท้ายเขื่อนเจ้าพระยา โดยมีจุดเปราะบางสำคัญคือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

จึงขอเสนอแนะแนวทางการบริหารจัดการน้ำและการบรรเทาผลกระทบ หนึ่งในนั้นคือการระบายน้ำเข้าทุ่งรับน้ำตั้งแต่ต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ 

เดิมทีชาวอยุธยาพึ่งพาสายน้ำมาโดยตลอด เมื่อน้ำมาก็จะไหลผ่านบ้านเรือนเข้าสู่ทุ่งนา แต่ด้วยการพัฒนาเมือง จึงมีการสร้างคันกั้นน้ำซึ่งเป็นถนนล้อมพื้นที่ที่เป็นทุ่งนาไว้ ทำให้บ้านเรือนประชาชนกลายเป็นอยู่นอกคันกั้นน้ำ ต้องถูกน้ำท่วมก่อนใคร ต้องกลายเป็นผู้เสียสละเพื่อปกป้องผู้คนส่วนใหญ่ของพื้นที่เมือง

จึงเสนอให้เปลี่ยนวิธีการระบายน้ำ จากเดิมระบายน้ำแบบรวดเดียวมาถึงอยุธยา เปลี่ยนเป็นการระบายน้ำอย่างมีขั้นตอน (1) สำรวจกายภาพของทุ่งรับน้ำที่อยู่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ (2) จัดลำดับการกระจายน้ำเข้าทุ่ง โดยไล่กระจายน้ำตั้งแต่พื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็น ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง (3) ต้องมีระบบแจ้งเตือนพื้นที่ทุ่งรับน้ำอย่างทั่วถึง พร้อมกำหนดให้ทุ่งรับน้ำต้องมีหลักเกณฑ์การผันน้ำเข้าทุ่งที่แน่นอน มีระยะเวลาที่ชัดเจน และมีหลักเกณฑ์ของระดับน้ำที่สามารถท่วมทุ่งได้สูงสุดอย่างชัดเจน

แต่หากเกิดผลกระทบจากน้ำท่วม ก็ต้องมีการจัดตั้งศูนย์อพยพที่มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย และอเนกประสงค์ รวมถึงจ่ายเงินชดเชยเยียวยาค่าเสียโอกาสที่เป็นธรรม โดยขอให้จ่ายตั้งแต่เริ่มท่วมในทุกเดือนโดยไม่ต้องรอน้ำลด เช่น 3,000 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน หรือพื้นที่เกษตร 1,000 บาทต่อไร่ต่อเดือน


น้ำท่วมนอกแนวคันกั้นน้ำ

เจษฎา ดนตรีเสนาะ สส.ปทุมธานี เขต 2 พรรคประชาชน กล่าวถึงปัญหาน้ำท่วมใน จ.ปทุมธานี โดยระบุว่า น้ำที่จะมาที่ปทุมธานีมี 3 ส่วน คือน้ำเหนือ น้ำฝน และน้ำทะเลหนุนสูง หลังน้ำท่วมปี 2554 หน่วยงานราชการทำแนวคันกั้นน้ำ ทำให้มีพื้นที่บางส่วนอยู่นอกแนวคันกั้นน้ำ บ้านเรือนประชาชนในบริเวณนั้นจึงน้ำท่วมทุกปี บางปีท่วมสูงกว่าปี 54 ด้วยซ้ำ 

จึงอยากให้หน่วยงานราชการมาพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ ตนอยู่ในพื้นที่มา 30 กว่าปีไม่เคยมีหน่วยงานมาพูดคุยว่าพื้นที่นี้จะต้องเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วม กลายเป็นเราถูกบังคับให้ท่วมโดยไม่เต็มใจ นอกจากนี้ รัฐต้องจ่ายเงินเยียวยาเพื่อช่วยเหลือการใช้ชีวิตอย่างรวดเร็ว จ่ายเงินชดเชยค่าซ่อมแซมบ้านเรือน จ่ายทันทีเมื่อน้ำท่วมและจ่ายทุกเดือนจนกว่าน้ำจะลด


การระบายน้ำและการผันน้ำลงท่าจีน

กิตติภณ ปานพรหมมาศ สส.นครปฐม เขต 4 พรรคประชาชน พูดถึงการเตรียมการระบายน้ำและการผันน้ำลงท่าจีน ซึ่งเป็นอีกจุดเปราะบางที่จะระบายน้ำลงสู่ทะเล 

ปกติการระบายน้ำจากภาคเหนือสู่ทะเล จะใช้เส้นทางหลักคือแม่น้ำเจ้าพระยา แต่หากเกินศักยภาพ ก็จะมีการผันน้ำไปทางฝั่งตะวันออกและตะวันตกคือแม่น้ำท่าจีน เริ่มตั้งแต่ชัยนาท สุพรรณบุรี นครปฐมและสมุทรสาคร แต่แม่น้ำท่าจีนมีศักยภาพการระบายน้ำต่ำ ประกอบกับในพื้นที่ปริมณฑลก็มีแนวคันป้องกันน้ำท่วม ทำให้น้ำจากตอนเหนือผ่านได้จำกัด จนทำให้น้ำต้องแช่ขังอยู่ในทุ่งแถบอำเภอบางเลน และอำเภอนครชัยศรี เป็นเวลานาน

จึงเห็นว่าหากรัฐบาลยังคงให้แม่น้ำท่าจีนเป็นเส้นทางที่ต้องผันน้ำลงทะเล รัฐบาลก็ควรเตรียมการพัฒนาศักยภาพการรองรับปริมาณน้ำในแม่น้ำท่าจีน เช่น สำรวจพื้นที่หน้าตัดของลำน้ำอย่างจริงจังเพื่อให้รู้ว่าแม่น้ำรับปริมาณน้ำได้เท่าไหร่, สำรวจจุดฟันหลอเพื่อเตรียมการแก้ไขทันที และในระยะยาวคือการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำตลอดแนวและเพิ่มสถานีสูบน้ำในคลองสาขาย่อยต่างๆ

นอกจากนี้ กฤษฐ์หิรัญ เลิศอุฤทธิ์ภักดี สส.นครสวรรค์ เขต 1 ยกตัวอย่างการหน่วงน้ำในพื้นที่บึงบอระเพ็ด ซึ่งมีพื้นที่กว่า 132,000 ไร่ กักเก็บน้ำได้ถึง 220 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือ 1 ใน 4 ของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นตัวอย่างการจัดการน้ำ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของภาคประชาชนและหน่วยงานรัฐ โดยสามารถใช้ในการหน่วงน้ำ และใช้สำหรับการเกษตรของประชาชนไปพร้อมๆ กัน 

ด้าน อานุภาพ ลิขิตอํานวยชัย สส.สมุทรสงคราม เขต 1 พูดถึงปัญหาน้ำท่วมในเมืองปากแม่น้ำว่าจะรุนแรงมากขึ้น ทั้งความถี่ ความยาวนาน และระดับน้ำ การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญกับการขุดลอกคูคลอง กำจัดวัชพืชผักตบชวาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ปล่อยให้สะสม เผื่อให้น้ำสามารถแผ่ไปได้และไม่ท่วมขัง ตามหลักการ “หาที่ให้น้ำอยู่ หาทางให้น้ำไป”


บริจาคให้พรรคประชาชน

สนับสนุนให้เราได้ทำงานสุดกำลังและยั่งยืน

ยอดบริจาคล่าสุด

... บาท

เราต้องการเป็นพรรคการเมือง ที่พร้อมตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำงานอย่างมีอิสระ ไม่เป็น และไม่อยู่ในบงการของใคร เงินบริจาคจึงเป็นทุนทำงานที่สำคัญยิ่งของเรา

บริจาคให้พรรค

ยอดผู้ขอสมัครเป็นสมาชิกพรรค

มาจากประชาชน • เป็นของประชาชน • ทำเพื่อประชาชน

เป้าหมายของเรา

100,000 คน

Login

พรรคประชาชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า