สู่ความเป็นพรรคมวลชนที่เป็นของทุกคนอย่างแท้จริง
แม้สมาชิกพรรคประชาชนจะมีที่มาแตกต่างหลากหลาย แม้ว่าหลายคนไม่ได้อยากทำงานการเมืองหรือเป็นนักการเมือง
บางคนอยากทำงานอาสา หลายคนมีความถนัดเฉพาะซึ่งอยากแบ่งปันใช้ประโยชน์ หรือมีบางคนที่เพียงแค่อยากเป็นผู้สนับสนุนพรรค เป็นหัวคะแนนธรรมชาติ
ไม่ว่าจะเป็นใคร เป้าหมายร่วมกันของเราทุกคนคือการสร้างประเทศไทยที่มีอนาคตมากกว่านี้
ประเทศไทยที่ดีกว่า สรุปอย่างสั้นๆ ได้ใน 3 ด้าน
ด้านการเมือง เราอยากเห็นประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
ด้านเศรษฐกิจ เราอยากเห็นประเทศไทยที่มีระบบเศรษฐกิจเติบโตอย่างก้าวหน้าและเป็นธรรม
ด้านสังคม เราอยากเห็นประเทศไทยที่ประชาชนมีเสรีภาพ ความเท่าเทียม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจต้องใช้เวลานานถึง 20-30 ปี หรือมากกว่านั้น
นั่นหมายความว่า เราไม่อาจฝากความหวังไว้กับคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ สิ่งที่ต้องการคือความร่วมมือร่วมใจ สร้างพรรค “ของเรา” ไปด้วยกัน
และนี่คือเหตุผลว่าทำไมจาก อนาคตใหม่-ก้าวไกล สู่ พรรคประชาชน พรรคจึงถูกสร้างขึ้นมาบนฐานคิดแบบพรรคมวลชน นั่นคือพรรคการเมืองที่สมาชิกทุกคนร่วมกันเป็นเจ้าของ
และสิ่งที่จะชี้วัดได้ว่า พรรคการเมืองใดเป็นพรรคมวลชนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวชี้วัดต่อไปนี้
ตัวชี้วัดที่ 1
จำนวนสมาชิก
9 สิงหาคม 2567 วันก่อเกิด พรรคประชาชน เราประกาศชัดถึงเป้าหมายการมีสมาชิกอย่างน้อยที่สุดให้ครบ 100,000 คน เพื่อให้เท่ากับจำนวนแสนของสมาชิกพรรคที่จบสิ้นไปพร้อมคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ
เพียงไม่ถึง 21วันหรือ 3 สัปดาห์หลังประกาศนั้น ยอดสมัครสมาชิกพรรคประชาชนพุ่งขึ้นกว่า 74,000 คน แม้ยังไม่ได้จำนวนแสน แต่ก็เป็นยิ่งกว่าคำว่าเหนือความคาดหมายในช่วงระยะเวลาสั้นๆ และไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ตัวเลขผู้สมัครยังคงวิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุดยั้ง
ทำไมจึงต้องเน้นจำนวนสมาชิก?
เพราะจำนวนสมาชิก คือ การบ่งบอกถึงความเข้มแข็งของพรรค จำนวนสมาชิกคือภารกิจร่วมกันของทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทหรือสถานะไหนในพรรค กรรมการบริหารพรรค สส. คณะทำงานจังหวัด สมาชิกพรรคจากทั่วทั้งประเทศหรือแม้แต่ที่อยู่ในประเทศอื่น เราทุกคนสามารถร่วมกันสร้างภารกิจนี้ได้ ด้วยการเริ่มต้นจากคนใกล้ตัว เช่น คนในครอบครัว คนในที่ทำงานเดียวกัน กลุ่มเพื่อน ฯลฯ
เริ่มด้วยการพูดคุยให้เห็นถึงเป้าหมายของพรรคประชาชน แนวทางในการสร้างพรรค และนโยบายที่พรรคอยากจะผลักดัน ความเข้าใจในความตั้งมั่นจะสร้างประเทศไทยที่ดีกว่า จะเป็นสิ่งเชิญชวนให้คนจำนวนมากอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของพรรค ร่วมเป็นเจ้าของพรรค
จำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้นจะเป็นทั้งแรงกายแรงใจให้ทุกคนในพรรคทำงานอย่างเข้มแข็งเต็มกำลัง เพราะผู้อยู่เบื้องหลังที่ดีที่สุดของพรรคการเมืองไม่ใช่ชนชั้นนำผู้มีอำนาจ แต่คือแรงพลังของพ่อแม่พี่น้องประชาชน
ตัวชี้วัดที่ 2
การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค
เราคงไม่สามารถพูดได้ว่า พรรคประชาชน เป็นพรรคมวลชน หากสมาชิกพรรคไม่ได้มีส่วนร่วม และไม่สามารถสื่อสารกับพรรคได้อย่างเพียงพอ
ปัจจุบัน พรรคประชาชน มี 2 ช่องทางหลักในการสื่อสารกับสมาชิก
- Line พรรคประชาชน ช่องทางซักถามประเด็นที่สงสัย หรือแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องต่างๆ ที่พรรคดำเนินการ และยังสามารถแจ้งว่าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อร่วมกลุ่มและรับข่าวสารสำหรับสมาชิกโดยเฉพาะ
- PPle Today แอพพลิเคชั่นที่โหลดใช้ได้ทั้งระบบ ios และ android เป็นแหล่งรวบรวมความเคลื่อนไหวของพรรคประชาชน แอพเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลสมาชิกพรรคเพื่อความสะดวก ใช้เป็นช่องทางรับฟังความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับการทำงาน และยังจะใช้เป็นช่องทางในการใช้สิทธิโหวตประเด็นสำคัญตามวาระโอกาสอีกด้วย
นอกจากนี้ พรรคยังได้พัฒนาระบบ https://act.pplethai.org/ ที่เชื่อมต่อข้อมูลสมาชิก เป็นระบบการลงทะเบียนที่สะดวกรวดเร็ว และยังช่วยบันทึกข้อมูลสมาชิกพรรคที่เข้าร่วมกับแต่ละกิจกรรม ระบบนี้จะช่วยทำให้พรรคประเมินการจัดการการเข้าร่วมกิจกรรมแต่ละครั้งได้แม่นยำขึ้น สามารถเตรียมการอย่างพอเหมาะพอดี ใช้ทรัพยากรได้คุ้มค่าไม่เปลืองเปล่า
ตัวชี้วัดที่ 3
โครงสร้างอำนาจภายในพรรคต้องยึดโยงกับสมาชิก
เราจะเป็นพรรคมวลชนได้ อำนาจของสมาชิกต้องสามารถจับต้องได้ นั่นคือโครงสร้างอำนาจภายในพรรคต้องยึดโยงกับสมาชิกพรรค
ปัจจุบันที่ประชุมใหญ่ซึ่งถือเป็นว่าเป็นโครงสร้างสูงสุดทางอำนาจภายในพรรค เป็นที่กำหนดทิศทาง กำหนดกรรมการบริหาร ผู้เข้าร่วมทุกคนจะต้องยึดโยง เป็นตัวแทนสมาชิกพรรค เพื่อให้ทุกมติที่ออกมาจากที่ประชุมใหญ่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากสมาชิกในภาพรวม
นอกจากนั้น เรากำลังสร้างโครงสร้างเครือข่ายพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็นโครงสร้างที่เป็นตัวแทนของสมาชิกพรรค มีอยู่ 2 ระดับ คือระดับจังหวัดและระดับอำเภอ
ระดับที่ 1 ระดับจังหวัด มี 2 องค์ประกอบหลัก คือ
คณะกรรมการสาขาจังหวัด
และตัวแทนพรรคประจำอำเภอ
คณะกรรมการสาขาจังหวัดเป็นไปตามกฎหมายพรรคการเมือง จังหวัดใดที่มีสมาชิกพรรคเกิน 500 คน ให้เรียกประชุมสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน เพื่อเลือกคณะกรรมการจังหวัด
ส่วนตัวแทนพรรคประจำอำเภอไม่อยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง แต่เป็นระเบียบของคณะกรรมการบริหารพรรคประชาชน ซึ่งกำหนดว่าอำเภอใดที่มีสมาชิกเกิน 100 คน ให้เรียกประชุมสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คนเพื่อเลือกตัวแทนพรรคประจำอำเภอ อันดับที่ 1, 2, 3 (3 คน)
คณะกรรมการจังหวัดจะเกิดขึ้นเมื่อมีคณะกรรมการสาขา และมีตัวแทนพรรคประจำอำเภอไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจังหวัดที่มีอยู่ เช่น จังหวัดไหนมี 13 อำเภอ จะต้องมีตัวแทนพรรคประจำอำเภอ 7 อำเภอจึงจะสามารถตั้งเป็นคณะกรรมการจังหวัดได้
คณะกรรมการจังหวัดจะเป็นตัวแทนของพรรคในการตัดสินใจเรื่องราวต่างๆ ในระดับจังหวัด
ระดับที่ 2 ระดับอำเภอ มีคณะกรรมการอำเภอ ซึ่งมี 2 องค์ประกอบเช่นเดียวกัน
องค์ประกอบที่ 1 คือ ตัวแทนพรรคประจำอำเภอ
องค์ประกอบที่ 2 คือ ตัวแทนพรรคประจำตำบล ซึ่งกำหนดไว้ว่าตำบลใดที่มีสมาชิกเกิน 25 คน ให้เรียกประชุมสมาชิกไม่น้อยกว่า 15 คน เพื่อเลือกตัวแทนพรรคประจำตำบล
และคณะกรรมการอำเภอจะเกิดขึ้นได้เมื่อในอำเภอนั้นมีคัวแทนพรรคประจำตำบลไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตำบลที่มีอยู่ในอำเภอนั้น และเมื่อตัวแทนพรรคประจำอำเภอได้เรียกประชุมจัดตั้งเป็นคณะกรรมการประจำอำเภอแล้ว ตัวแทนพรรคประจำอำเภอที่ 1 จะเป็นหัวหน้าอำเภอ
โครงสร้างระดับอำเภอ ตัดสินใจในนามพรรคในระดับอำเภอ
สำหรับกรุงเทพมหานคร ใช้เขตแทนอำเภอ และแขวงแทนตำบล
เราตั้งเป้าหมายที่จะมีตัวแทนพรรคประจำอำเภอไม่น้อยกว่า 400 อำเภอ และมีคณะกรรมการจังหวัดไม่น้อยกว่า 40 จังหวัด
นอกจากนี้ พรรคประชาชน ยังมีเครือข่ายอื่นๆ อีก 2 เครือข่าย คือ เครือข่ายชาติพันธุ์และเครือข่ายแรงงาน ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
ตัวชี้วัดที่ 4
เงินทุน
พรรคการเมืองจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนไม่น้อยในการทำงาน ทั้งค่าใช้จ่ายประจำ ผันแปร และต่าใช้จ่ายอื่นๆ
พรรคประชาชน คาดหวังรายได้หลักจากหลายช่องทางด้วยกัน
ส่วนที่ 1 กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง หรือรายได้ที่มีที่มาจาก กกต. แม้อดีตพรรคก้าวไกลจะเคยได้รับเงินบริจาคจากผู้เสียภาษีจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันหลายปี คิดเป็นตัวเลขราว 40-50 ล้านบาท / ปี แต่หลังจากคำวินิจฉัยยุบพรรค และการเกิดขึ้นใหม่ในนาม พรรคประชาชน หากจะได้รับเงินจากกองทุนนี้ในจำนวนใกล้เคียงกับที่เคยได้รับ พรรคจะต้องอาศัยเวลาพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่พี่น้องประชาชนเห็นว่า เรายังคงทำงานหนัก ตั้งเป้าหมายประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วนที่ 2 รายได้ที่มาจากสมาชิกพรรค มาจากค่าธรรมเนียมการสมัครสมาชิกทั้งรายปีและแบบตลอดชีพ หากสมาชิกเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ สม่ำเสมอ นอกจากพรรคจะแข็งแรงขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจจากพี่น้องประชาชน ก็จะมีรายรับเพิ่มขึ้นด้วยในเวลาเดียวกัน
ส่วนที่ 3 รายได้จากเงินบริจาคของผู้แทนราษฎร สส.พรรคประชาชนทั้ง 143 คน มีส่วนร่วมในการบริจาคให้พรรคเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งอยู่ที่ตัวเลขโดยประมาณ 10 ล้านบาท / ปี
ส่วนที่ 4 เงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ จำนวนที่น้อยกว่า 5,000 บาท และ มากกว่า 5,000 บาท / ครั้ง (จำนวนตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไปต่อครั้ง ต้องเปิดเผยรายละเอียดผู้บริจาคต่อ กกต.) ตั้งเป้าหมายรายรับอยู่ที่ 20 ล้านบาท / ปี
ส่วนที่ 5 เงินจากการขายสินค้าที่ระลึกของพรรค ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 4 ล้านบาท / ปี
ส่วนที่ 6 เงินจากกิจกรรมระดมทุน ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านบาท / ปี
*รายได้ / ปี ทุกส่วนรวมกัน ตั้งเป้าหมายไว้ที่ 90-100 ล้านบาทโดยประมาณ แม้ว่าดูเป็นจำนวนเงินที่สูง แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ของพรรค เงินจำนวนนี้ไม่ถือว่ามากมายเหลือใช้แต่อย่างใด
ค่าใช้จ่ายของพรรค
ปัจจุบันแบ่งเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ
- ค่าใช้จ่ายคงที่ คือค่าใช้จ่ายจำเป็นรายเดือน เช่น เงินเดือนเจ้าหน้าที่ ค่าจ้างบริการในด้านต่างๆ เช่น งานดาต้า (ข้อมูล) งานด้านไอที งานสื่อสาร งานบัญชี งานกฎหมาย ค่าเช่าสำนักงาน ฯลฯ เหล่านี้คือค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเป็นประจำสม่ำเสมอในวงเงินประมาณ 3 ล้านบาท / เดือน หรือ 36 ล้านบาท / ปี
- ค่าใช้จ่ายผันแปร ไม่เป็นจำนวนตายตัวแน่นอน เช่น ค่าผลิตสินค้าที่ระลึกของพรรค ค่าใช้จ่ายของการผลิตบัตรสมาชิกพรรค ค่าดำเนินการจัดส่งบัตรสมาชิก ฯลฯ เหล่านี้คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 1 ล้านบาท / เดือน
- ค่าใช้จ่ายของงานเครือข่ายทั่วประเทศ จากแผนการสร้างเครือข่ายที่ได้กล่าวถึง จะทำให้เกิดรายจ่ายประมาณ 2.5 ล้านบาท / เดือน หรือ 30 ล้านบาท / ปี
- ค่าใช้จ่ายในกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมสมาชิกสัมพันธ์ที่จัดตามวาระโอกาสต่างๆ, กิจกรรมสัมมนาจังหวัด, กิจกรรมสัมมนา สส. หรือ การผลิตปฏิทินประจำปี ฯลฯ มากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนและขนาดของกิจกรรม
อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายในส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 พรรคไม่สามารถขอเบิกงบประมาณจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองได้จากเงื่อนไขข้อจำกัดที่กองทุนตั้งไว้ นั่นหมายความว่าค่าใช้จ่าย 2 ส่วนนี้ยังจำเป็นต้องมีรายได้ส่วนอื่นสนับสนุน
แล้วเงินทุนของพรรคการเมืองแบบพรรคมวลชนจะเป็นอย่างไร มีเป้าหมายอย่างไร?
พรรคการเมืองแบบพรรคมวลชนอย่างที่ พรรคประชาชน ต้องการจะเป็น ต้องเข้มแข็งด้วยการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชนที่เราถือเป็นเจ้าของพรรคที่แท้จริง มีรายรับมาจากสมาชิกพรรคและจากประชาชนทั่วไป จำนวนเงินบริจาคจากแต่ละบุคคลอาจจะเรียกได้ว่าคนละเล็กคนละน้อย แต่จำนวนผู้ให้การสนับสนุนเป็นคนหมู่มาก = เงินเล็กหลายๆ จำนวนก็สามารถรวมกันเป็นเงินใหญ่ได้
ตัวชี้วัดและเป้าหมายในการดำเนินงานหลังจากนี้ ทั้งจำนวนสมาชิกที่เพิ่มขึ้น การมีส่วนร่วมของสมาชิกที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างอำนาจภายในพรรคที่ยึดโยงกับสมาชิกทั้งหมด และเงินทุนเล็กที่มาจากประชาชนจำนวนมาก
สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดถึงความเข้มแข็งของ พรรคประชาชน พรรคที่เราต้องการให้มีรูปแบบของพรรคมวลชนที่แท้จริง
นี่คือหลักประกันว่า
ในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม จะเปลี่ยนพรรคกี่ครั้ง เปลี่ยนกรรมการบริหารกี่ชุด ด้วยโครงสร้างพรรคที่แข็งแรงยึดโยงกับพี่น้องประชาชน เป้าหมายของเราทุกคนจะยังคงมีคนขับเคลื่อนผลักดันต่อไปเสมอ
งานสร้างพรรคเครือข่ายชาติพันธุ์
ประชาชนชาติพันธุ์ถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของพรรคเสมอ เช่นเดียวกับประชาชนกลุ่มอื่นๆ ตั้งแต่สมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ อดีตพรรคก้าวไกล จนถึง พรรคประชาชน
เรามี สส.ชาติพันธุ์ ที่ไม่เพียงแค่ให้พรรคได้ชื่อว่ามี สส.ทุกกลุ่ม แต่พวกเขายังเป็น สส.ที่เคลื่อนไหวทำงานทั้งในและนอกสภาเคียงบ่าเคียงไหล่ สส.หลายร้อยคน ตั้งประเด็นและเสนอร่างกฎหมายที่จะขยับขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตคนกลุ่มชาติพันธุ์และคนกลุ่มอื่นๆ ให้เท่าเทียม
เพราะพี่น้องชาติพันธุ์มีตัวตน และไม่ใช่เป็นเพียงจำนวนนับ
คนทั่วไปอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า พี่น้องชาติพันธุ์ในประเทศไทยมีอย่างน้อยกว่า 6.1 ล้านคน ไม่ต่ำกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ มีถิ่นอาศัยกระจายอยู่ทั่วประเทศในพื้นที่ทุกรูปแบบ อย่างเช่น
- พี่น้องบนพื้นที่สูง ไม่ว่าจะเป็นพี่น้องปกาเกอะญอ พี่น้องม้ง พี่น้องลาหู่ พี่น้องอาข่า พี่น้องละเวือะ (ลัวะ)
- พี่น้องชาติพันธุ์ชนพื้นราบ เช่น พี่น้องมอญ พี่น้องไททรงดำ พี่น้องภูไท พี่น้องกุย
- พี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองติดทะเล ที่เราเรียกว่าพี่น้องชาวเล ชาวอูรักลาโว้ย (อูรักลาโวยจ) ชาวมอแกน ชาวมอแกลน
- พี่น้องกลุ่มใช้ชีวิตอยู่ในเขตป่า กลุ่มนี้มีความเปราะบางเป็นอย่างมาก นั่นคือพี่น้องมลาบรี (คนไทยนิยมเรียกพวกเขาว่า ผีตองเหลือง)
กว่าหกล้านคนคิดเป็น 10% ของพี่น้องคนไทยทั้งประเทศ แต่ไม่ว่าจะกี่เปอร์เซ็นต์ก็ตาม พวกเขาก็ไม่ได้มีความหมายเป็นแค่จำนวนนับเท่านั้น พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกคนมีตัวตน มีสิทธิอย่างเต็มที่ที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมที่เท่าเทียมกับคนอื่นๆ ทั้งประเทศ
เพราะอย่างนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือการที่กลุ่มชาติพันธุ์ควรต้องมีผู้แทนของพวกเขาที่จะไปส่งเสียงในสภาฯ เพราะไม่มีใครจะเข้าใจปัญหาดีเท่าพวกเขาเอง เหมือนที่อดีตพรรคอนาคตใหม่ – ก้าวไกล จนมาถึง พรรคประชาชน มีพื้นที่ให้ สส.ชาติพันธุ์ตลอดมา
และนี่ไม่ใช่การ “ให้พื้นที่” หรือ “ให้โอกาส” แต่เป็นการเปิดพื้นที่ที่พี่น้องชาติพันธุ์ควรต้องมีสิทธิมีส่วนอยู่แล้ว ให้พวกเขาได้ลุกขึ้นยืนเต็มภาคภูมิอย่างที่ควรจะเป็น
ธงหลักของกลุ่มชาติพันธุ์ คือ การเสนอร่างกฎหมายชาติพันธุ์ ด้วยเหตุผลและความจำเป็นต่อไปนี้
- สังคมไทยเป็นพหุสังคมและวัฒนธรรม อย่างที่กล่าวมาแล้วว่า อย่างน้อยที่สุดก็มีอยู่ถึง 60 กลุ่มชาติพันธุ์
- ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง กำหนดขึ้นในปี พ.ศ. 2532 (1989) และประเทศไทยลงนามเมื่อปี 2550
- ข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตราที่ 70 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่าจะต้องส่งเสริมและคุ้มครองพี่น้องชาติพันธุ์ในประเทศไทย
(มาตรา 70 รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย)
และ นโยบายสำคัญที่พี่น้องชาติพันธุ์ได้ร่วมเดินทางกับ อนาคตใหม่ – ก้าวไกล สู่ พรรคประชาชน ตลอดมา มีอยู่ 7 ประการด้วยกัน
- สวัสดิการ ประชาชนไม่ว่าจะมาจากภูมิภาคไหน มีอัตลักษณ์อย่างไร เพศใด รูปร่างหน้าตาแบบใด ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมสูงหรือต่ำ สวัสดิการควรจะต้องเป็นหลักพื้นฐานของทุกคนเสมอ
- ที่ดินที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ประเด็นนี้ไม่ใช่เฉพาะพี่น้องชาติพันธุ์ในประเทศไทยเท่านั้น พี่น้องคนไทยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านคนอาศัยอยู่และทำกินในที่ดินที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นโยบายทวงคืนผืนป่าของประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้พี่น้องถูกจำคุก เป็นคดีไม่ต่ำกว่า 30,000 คดี
- สถานะบุคคลและสัญชาติ จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยังมีบุคคลถึง 9 แสนกว่าคนที่ยังรอคอยการมีสถานะและสัญชาติ ซึ่งหมายความว่าพวกเขาไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเอกสารอื่นใดจากทางราชการ สิทธิและผลประโยชน์ต่างๆ ที่บุคคลควรจะได้รับตามกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
- นิเวศวัฒนธรรม หรือการประกาศเขตนิเวศ การกำหนดและออกแบบเขตนิเวศพิเศษเฉพาะของพี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ จะช่วยปกป้องคุ้มครองการถูกรุกรานทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะพิเศษเป็นของตัวเอง
- การศึกษา เป้าหมายหลักของการศึกษาคนชาติพันธุ์มี 2 ประการ 1) การศึกษาดีที่เท่าเทียมกับการศึกษาที่มีมาตรฐานทั่วประเทศ และ 2) หลักสูตรการศึกษามีเนื้อหาของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ และวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ในพื้นที่
- การกระจายอำนาจ หากจะสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี จำเป็นมากที่ท้องถิ่นต้องมีอำนาจจัดการตนเอง พี่น้องชาติพันธุ์คือหนึ่งในพลังผลักดันร่างกฎหมายว่าด้วยการกระจายอำนาจ
- ยืนยันตัวตนกว่า 60 กลุ่มชาติพันธุ์ในไทยต้องมีที่ยืนในเวทีโลก พี่น้องชาติพันธุ์ไทย 60 กว่าชาติพันธุ์ จะต้องมีพื้นที่ในเวทีระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็นเวทีของกลไกสหประชาชาติ หรือเวทีที่จัดขึ้นโดยนานาประเทศ ชาติพันธุ์ไทยเท่าเทียมชาติพันธุ์โลก
สิ่งที่เราให้ความสำคัญในการกำหนดทิศทางที่จะดำเนินการต่อไป
ฐานสมาชิกพรรคปีกชาติพันธุ์
เครือข่ายชาติพันธุ์ พรรคประชาชน ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิกพรรคที่เป็นพี่น้องชาติพันธุ์ ทั้งด้วยจำนวนคนและชาติพันธุ์ อย่างเช่น พรรคยังไม่เคยมีสมาชิกพรรคที่เป็นพี่น้องละเวือะ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินการขยายเครือข่ายในภาคอีสาน ภาคใต้ ที่มีพี่น้องชาติพันธุ์อื่นๆ อีกมากมาย
ในกระบวนการทำงานที่ออกแบบไว้ ตั้งแต่ระดับเครือข่ายไปจนถึงระดับหมู่บ้าน จะมีการสร้างผู้ปฏิบัติงานหรือตัวแทนชุมชนในพื้นที่เครือข่ายชาติพันธุ์ ตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด สิ่งที่สำคัญที่สุด ทุกที่จะมี ตทช.
ในส่วนของเครือข่ายชาติพันธุ์พรรคประชาชนมี ตทช. และเครือข่ายชาติพันธุ์ประจำจังหวัด
หลากหลายนโยบายของพรรคประชาชนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงโดยตรงกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนชาติพันธุ์ เช่น นโยบายเรื่องที่ดิน ฯลฯ แต่ก็ยังมีนโยบายทางการเมืองที่กลุ่มคนชาติพันธุ์ทั่วประเทศมีส่วนร่วมเท่าๆ กับคนทั้งประเทศด้วย อย่างเช่น การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ มี สสร.ที่มาจากการเลือกตั้งเพื่อให้ยึดโยงกับประชาชน เกิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รวมทั้งนโยบายการกระจายอำนาจซึ่งจะให้ผลทางตรงกับชีวิตความเป็นอยู่อย่างที่กล่าวไปแล้ว
ดังนั้น หน้าที่หลักอย่างหนึ่งของปีกชาติพันธุ์ คือการรณรงค์ให้สังคมเครือข่ายพี่น้องชาติพันธุ์เข้าใจในนโยบาย ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งเรื่องกระจายอำนาจ และเรื่องอื่นๆ
พรรคประชาชน ยังได้ออกแบบกลไกการทำงานให้คล่องตัว โดยให้มีผู้อำนวยการเครือข่ายชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง รวมทั้งมีผู้ปฏิบัติงานที่จะกระจายไปทั่วประเทศ
ปัจจุบัน พรรคประชาชน มี สส.ชาติพันธุ์ 2 คน คือ มานพ คีรีภูวดล และ เล่าฟั้ง เทอดบัณฑิตสกุล ทั้งคู่ทำงานทั้งในสภาฯ และเชื่อมต่อเครือข่ายชาติพันธุ์นอกสภาฯ
พี่น้องชาติพันธุ์เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญในการสร้าง พรรคประชาชน ให้เป็นพรรคมวลชนอย่างที่เราทุกคนต้องการ
งานสร้างพรรคเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน
เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน พรรคประชาชน มีภารกิจหลัก 2 ประการ
- ขยายฐานสมาชิกพรรคในเครือข่ายให้เพิ่มมากขึ้นทั้งในเชิงปริมาณ และการทำงานเชิงความคิด ทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานต่างๆ จัดตั้งกรรมการเครือข่าย ทั้งหมดเพื่อเสริมความแข็งแรงให้กับทั้งภาคแรงงานเองและกับพรรค
- ทำงานในสภาฯ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับทั้งส่วนรวมและภาคแรงงานโดยตรง แก้กฎหมายให้ทันสมัยขึ้น เสนอทางออกของปัญหาแรงงานผ่านชั้นกรรมาธิการ ทำงานเชิงประเด็นร่วมกับ สส.เขตทุกเขตของ พรรคประชาชน ทั่วประเทศ ปัจจุบัน พรรคประชาชน มี สส.ตัวแทนผู้ใช้แรงงาน 3 คน
ภารกิจหลักทั้ง 2 ส่วนนี้ต้องประกอบเสริมสร้างกันและกัน งานเครือข่ายรับฟังปัญหาของพี่น้องแรงงานในพื้นที่ และส่งเข้าสู่กระบวนการงานสภาฯ
งานสร้างเครือข่าย
การสร้างเครือข่าย หรือเชิญชวนมวลชนเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกของพรรคมาจากการออกแบบโครงสร้างของเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบด้วยกัน
รูปแบบที่ 1 งานในเชิงพื้นที่
4 พื้นที่ตามแผนการตั้งคณะกรรมการเครือข่ายผู้ใช้แรงงานตามสัดส่วนของภูมิภาค มีดังนี้
- ภาคตะวันออก มีกลุ่มอุตสาหกรรมอยู่อย่างหนาแน่น
- ภาคเหนือ ศูนย์ประสานงานชั่วคราวกำหนดให้อยู่ที่จังหวัดพะเยา
- ภาคกลาง ศูนย์กลางชั่วคราวอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา
- กรุงเทพและปริมณฑล เขตลาดกระบังซึ่งมีนิคมอุตสาหกรรมเป็นศูนย์ประสานงาน
นอกจากนี้ยังกำหนดการสร้างคณะกรรมการเครือข่ายในเชิงภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ด้วยเหตุผลที่อุตสาหกรรมมีความหลากหลายทั้งในชนิดงานและประเด็นปัญหา โดบแบ่งออกเป็น 8 เครือข่ายด้วยกัน
- อุตสาหกรรมสิ่งทอ
- อุตสาหกรรมยานยนต์
- อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์
- กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- อุตสาหกรรมกระดาษ สิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์
- ขนส่งและโลจิสติกส์
- อุตสาหกรรมอาหารและยา
- กลุ่มแรงงานนอกระบบ
แต่ละเครือข่ายจะมีผู้ประสานงานที่มีความเข้าใจต่ออุตสาหกรรมนั้นอย่างแท้จริง และยังมีตำแหน่งผู้ปฏิบัติงานที่สร้างความเชื่อมโยงกับทุกเครือข่ายอีกทีหนึ่ง
เป้าหมายเครือข่ายแรงงาน
ในแผนงานของเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน มีเป้าหมายในการขยายเครือข่าย 2 แบบหลักๆ
- การจัดตั้งเครือข่ายในระดับจังหวัด
- ส่งเสริมการรวมกลุ่ม หรือการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะคนทำงานภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มอื่นๆ ที่มีความสนใจอยากตั้งสหภาพแรงงานด้วย อย่างเช่น กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มแรงงานสร้างสรรค์ กลุ่มบุคลากรทางการศึกษา ฯลฯ เพราะทุกกลุ่มคนทำงานล้วนต้องการการจ้างงานที่เป็นธรรม
สำหรับงานในสภา อดีตพรรคก้าวไกล จนถึง พรรคประชาชน ได้ยื่นร่างกฎหมายจำนวนมากเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ในจำนวนนั้นมีร่างที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ใช้แรงงานหลายฉบับ และมีบางฉบับที่ถูกตีตกไปแล้ว เช่น ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ที่หนึ่งในเนื้อหาเสนอให้สิทธิลาคลอด 180 วัน ฯลฯ
แม้จะมีอุปสรรคมากมาย แต่การทำงานของเครือข่ายแรงงานทั้งในและนอกสภาฯ จะไม่ย้อท้อ เพราะยังมีพี่น้องแรงงานอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งในและนอกระบบ รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องทำงานบนข้อตกลงที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้าง สัญญาจ้าง ชั่วโมงทำงาน สวัสดิการ ฯลฯ
ในโลกสากล กว่า 100 ปีที่มีการจัดขบวนแสดงพลังในวันแรงงาน หนึ่งในข้อเสนอต่อรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็คือ รัฐบาลจะต้องเซ็นรับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศ ILO 8798 (ILO องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) ให้การจัดตั้งสหภาพเป็นไปอย่างเสรี คุ้มครองตัวแทนในการเจรจา
เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน พรรคประชาชน ต้องสร้างความตระหนักรู้ว่า คนทำงานทุกคนคือแรงงาน ไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้แรงกายเป็นหลักตามความเข้าใจดั้งเดิม ทุกร่างกฎหมายที่พรรคผลักดันจะเป็นประโยชน์กับคนทำงานทุกกลุ่ม ทุกรายได้ เป็นหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมตามคุณค่าที่เป็นหลักของพรรค
ทั้งหมดนี้คือ งานสร้างพรรค ที่สืบทอดและพัฒนาแนวคิด จาก อนาคตใหม่ – ก้าวไกล สู่ พรรคประชาชน
เพื่อพรรคที่จะเติบโตและก้าวไปข้างหน้าในรูปแบบของพรรคมวลชน พรรคที่จะเป็นของสมาชิกทุกคน
และทำงานเพื่อพ่อแม่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศอย่างแท้จริง