free geoip

✒️ ปักธง แก้รัฐธรรมนูญ ทบทวนอำนาจ-ที่มาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ


กรณีที่เมื่อวานนี้ (21 ส.ค.) ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญรายหนึ่งได้แสดงออกในเวทีสาธารณะที่ จ.สุราษฏร์ธานี พาดพิงถึงคดียุบพรรคก้าวไกล และพาดพิงถึงพรรคประชาชนในทางที่เสียดสีไม่เหมาะสม ทำให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง 

วันนี้ (22 ส.ค.) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชนจึงเสนอญัตติด่วนด้วยวาจา ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเกี่ยวกับการแสดงออกของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตุลาการในเวทีสาธารณะ


🙅 สาธารณชนตั้งคำถาม วินิจฉัยยุบก้าวไกลใช้อคติส่วนตัวหรือไม่

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน เป็นผู้เสนอญัตติและอภิปรายถึงหลักการและเหตุผล โดยระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีการคิดไตร่ตรองอย่างดี ว่าการแสดงความเห็นบนเวทีสาธารณะแบบนี้เป็นการแสดงทัศนคติส่วนตัวหรือโดยเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหน้าที่ และเนื่องจากท่านเป็นองค์คณะตุลาการที่ได้พิพากษาประหารชีวิตพรรคการเมือง แล้วยังออกมาแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นดังกล่าวในเชิงประชดประชัน จึงเป็นความชอบธรรมของสภาผู้แทนราษฎรและประชาชนที่ควรจะต้องตั้งคำถามต่อองค์กรภายใต้รัฐธรรมนูญได้

ตามมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 2 ว่าด้วยจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อที่ 13 มีบทบัญญัติไว้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความยุติธรรม เป็นอิสระ เป็นกลาง และปราศจากอคติ และในข้อที่ 17 บัญญัติไว้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ทำการใดๆ ให้เสื่อมเสียต่อเกียรติศักดิ์และการดำรงตำแหน่ง อีกทั้งยังมีประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการข้อที่ 28 บัญญัติไว้ว่าผู้พิพากษาไม่พึงแสดงปาฐกถาบรรยาย สอน หรือเข้าร่วมการสัมมนา อภิปรายแสดงความคิดเห็นใดๆ ต่อสาธารณชน ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่และเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา

🔥คำถามคือการแสดงทัศนคติแบบนี้เป็นการแสดงทัศนคติที่เป็นกลางหรือไม่ สาธารณชนย่อมสามารถตั้งคำถามได้ว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลนั้นใช้อคติส่วนตัวในการวินิจฉัยหรือไม่ 

ดังนั้น จึงอยากเรียกร้องเพื่อนสมาชิกได้เห็นชอบกับญัตตินี้ เพื่อส่งข้อสังเกตไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพราะพวกเรายืนยันว่าเรื่องของมาตรฐานจรรยาบรรณ เป็นเรื่องนามธรรม ควรจะต้องให้คนภายในองค์กรนั้นตรวจสอบกันเอง ไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะไปใช้อำนาจล่วงเกินฝ่ายอื่นๆ 

ทั้งนี้ อีกสิ่งที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่ได้รับอำนาจจากประชาชนมาทำได้ร่วมกัน ก็คือการเสนอร่างแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันในการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ อำนาจหน้าที่ ที่มาที่ไป และการถอดถอนองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง


🔗 จริยธรรมของฝ่ายนิติบัญญัติ คือความรับผิดชอบต่อประชาชน

ด้าน รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายสนับสนุนญัตติระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีที่มาที่ไปจากคณะรัฐประหาร ที่ตั้งใจสร้างกลไกในการตรวจสอบพรรคการเมืองและนักการเมือง โดยเชื่อว่านักการเมืองคือคนเลว กลไกที่ใช้ในการตรวจสอบนักการเมืองจึงมีจำนวนมากมายหลายมาตรา 

แต่เมื่อพิจารณาถึงองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ กลไกในการตรวจสอบกลับมีน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ในกรณีองค์กรอย่างศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจในทางที่เสื่อมเสีย กลับแทบไม่เห็นมาตราหรือกลไกใดที่จะอนุญาตให้สภาหรือองค์กรใดได้ตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ชอบนี้เลย

โดยธรรมชาติของนักการเมือง พวกเราชอบแล้วที่จะต้องถูกตรวจสอบ แต่การตรวจสอบก็ต้องมีระดับที่เหมาะสม และพวกเรายังมีความรับผิดชอบทางการเมือง ซึ่งสุดท้ายประชาชนจะเป็นคนตัดสิน คำถามคือการเอาประมวลจริยธรรมที่ใช้กับศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง ซึ่งควรถูกใช้กับองค์กรที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน มาใช้กับนักการเมืองที่กลไกตรวจสอบและมีประชาชนเป็นผู้ตัดสินอยู่แล้ว ถูกต้องหรือไม่

ฝ่ายนิติบัญญัติที่ใช้อำนาจตามที่ประชาชนได้ไว้วางใจมา คือสถาบันสุดท้ายที่กำลังปกป้องอำนาจสูงสุดของประชาชน จริยธรรมคือความรับผิดชอบที่เรามีต่อประชาชน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องมีฉันทามติร่วมกัน นำเอาประเด็นจริยธรรมที่เป็นมรดกของ คสช. ออกไปจากระบบ ไม่ให้นำมาใช้ปะปนกันอีกต่อไป

และแม้สภาแห่งนี้ในอนาคตจะตัดสินใจว่าจะเอาจริยธรรมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกไปจากรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป. ก็ไม่ได้แปลว่านักการเมืองจะอยู่เหนือการตรวจสอบ เพราะยังต้องผูกพัน ถูกดำเนินการ และต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายต่อต้านทุจริตต่อไป


🤜 ทบทวนความไม่พอใจ 3 เรื่องในการเมืองปัจจุบัน

ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ อภิปรายสรุปญัตติในส่วนของพรรคก้าวไกล ระบุว่าสาเหตุที่สภาต้องมาพิจารณาญัตติด่วนในวันนี้ มาจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่ง แต่ในมุมหนึ่งพฤติการณ์ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกลไก กระบวนการ ขั้นตอน ที่ทำให้บุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวสามารถไปดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ล้วนเป็นผลลัพธ์มาจากระบบการเมืองที่ออกแบบโดยรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เป็นต้นตอปัญหานี้

ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นจากระบบการเมืองที่เราอาศัยอยู่ ถ้าไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก เราหลีกหนีไม่พ้นความจำเป็นในการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราสามารถเริ่มต้นได้ด้วยการทบทวนความรู้สึกของสังคม ว่าแท้ที่จริงแล้วเรากำลังไม่พอใจเรื่องอะไร ลึกๆ เราจะพบว่าเราไม่ได้ไม่พอใจเพียงตัวบุคคล แต่คือ 3 องค์ประกอบของระบบการเมืองปัจจุบัน คือ

📍ประการแรก ความไม่พอใจหรือการตั้งคำถามว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังลุแก่อำนาจหรือไม่ ซึ่งแปรมาเป็นโจทย์ในการปฏิรูปขอบเขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ขยายขอบเขตอำนาจให้อย่างมหาศาล ทั้งในการยุบพรรคการเมือง ซึ่งจากบริบท จังหวะการยุบพรรค รวมถึงคำบรรยายของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวาน ยิ่งตอกย้ำว่ากลไกของการยุบพรรคไม่ได้คำนึงถึงกฎหมาย แต่ถูกใช้เป็นอาวุธทางการเมืองมาตลอด 

แม้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะพูดในทำนองเยาะเย้ยว่าให้พวกตนต้องขอบคุณท่าน แต่ตนไม่ขอขอบคุณท่าน แต่ตนต้องขอบคุณประชาชนที่ยังไม่หมดหวังกับการเมืองไทยภายใต้ประชาธิปไตยที่บกพร่องทุกวันนี้ การยุบพรรคที่เกิดขึ้นไม่สามารถทำลายพรรคการเมืองได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือการยุบพรรคกำลังทำลายล้างประเทศ ทำให้สังคมตั้งคำถามว่ากฎหมายกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อขัดขวางเจตนารรมณ์ของประชาชนหรือไม่

อีกอำนาจที่ถูกขยายออกมา คือนวัตกรรมทางการเมืองที่เรียกว่ามาตรฐานทางจริยธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นนามธรรม ถูกนิยามจากต่างคนต่างไม่เหมือนกัน ซึ่งตนต้องยืนยันว่าจริยธรรมเป็นเรื่องที่ถูกตีความและนิยามไม่เหมือนกัน แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับนำจริยธรรมไปบรรจุในกฎหมาย และเพิ่มอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ มีอำนาจผูกขาดทั้งการนิยามและการตีความวินิจฉัยชี้ขาด โดยมีโทษที่รุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตทางการเมืองบุคคล

📍ประการที่สอง ความไม่พอใจต่ออคติและอาการที่ดูไม่เป็นกลางของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องถูกแปรมาเป็นโจทย์สำคัญในการปฏิรูปกระบวนการในการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ควรต้องมีเกณฑ์และคุณสมบัติ คือมีความหลากหลายทั้งความคิดและความเชี่ยวชาญ ต้องมีความยึดโยงกับประชาชน และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางได้ ซึ่งกติกาเกี่ยวกับการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับเกณฑ์ทั้งสามนี้แม้แต่ข้อเดียว

📍ประการที่สาม ความไม่พอใจของประชาชน ที่ไม่มีช่องทางทำอะไรกับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมองว่าไม่เหมาะสมได้เลย ซึ่งต้องถูกแปรเป็นโจทย์ในการปฏิรูปกลไกการตรวจสอบและถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในอดีตเคยมีกลไกถอดถอนมาก่อน และถึงเวลาแล้วที่จะต้องนำกลไกถอดถอนกลับมาอีกครั้งหนึ่ง


🟠 หน้าที่ผู้แทนฯ ต้องแก้ปัญหาที่ต้นตอ

พริษฐ์กล่าวต่อไป ว่าเราเห็นประชาชนจำนวนมากไม่พอใจ แต่ตนอยากให้เพื่อนสมาชิกตระหนักไว้ว่าแม้เราจะมีความรู้สึกไม่พอใจเหมือนกัน แต่สิ่งที่ผู้แทนราษฎรสามารถทำได้ไม่ใช่แค่การพูดแทนประชาชน แต่คือการแก้ปัญหาที่ต้นตอ คือการแก้รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นบ่อกำเนิดของระบบการเมืองที่บิดเบี้ยวและนำมาซึ่งเหตุการณ์เมื่อวานนี้

ในมุมหนึ่งต้องเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ในอีกด้านหนึ่งรัฐธรรมนูญบับใหม่นั้นจะสะท้อนเสียงของประชาชนทุกกลุ่มได้ดีที่สุดหากมาจากการร่างโดย สสร. ที่มาจากประชาชนทั้งหมด ซึ่งกระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยเวลา 

ดังนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องทำโดยทันทีและทำได้ตั้งแต่วันนี้ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ซึ่งวันนี้พรรคประชาชนพร้อมเสนอและสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งการทบทวนอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ การปฏิรูปกระบวนการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมถึงการเพิ่มกลไกตรวจสอบถอนถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ

บริจาคให้พรรคประชาชน

สนับสนุนให้เราได้ทำงานสุดกำลังและยังยืน

ยอดบริจาคล่าสุด

... บาท

เราต้องการเป็นพรรคการเมือง ที่พร้อมตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำงานอย่างมีอิสระ ไม่เป็น และไม่อยู่ในบงการของใคร เงินบริจาคจึงเป็นทุนทำงานที่สำคัญยิ่งของเรา

บริจาคให้พรรค

ยอดผู้ขอสมัครเป็นสมาชิกพรรค

มาจากประชาชน • เป็นของประชาชน • ทำเพื่อประชาชน

เป้าหมายของเรา

100,000 คน

Login

พรรคประชาชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า