free geoip

5 เรื่องใหญ่ แก้วิกฤตการผลิตไทย รัฐบาลกล้าทำหรือไม่?


หลายปีที่ผ่านมานี้เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับการไหลทะลักของสินค้านำเข้าผ่านหลายช่องทาง ทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ การทุ่มตลาดด้วยสินค้าราคาต่ำ และการประกอบธุรกิจผ่านนอมินีของคนต่างชาติ จนผู้ประกอบการไทยประสบความเดือดร้อนกันไปทั่ว

แม้รัฐบาลจะดูใส่ใจกับเรื่องนี้ โดยมีการบรรจุประเด็นปัญหาอยู่ในคำแถลงนโยบาย กล่าวถึงความท้าทายที่ SMEs กำลังเผชิญการแข่งขันด้านราคาของสินค้านำเข้า และการวางนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันทีในการดูแล ส่งเสริม และปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ

แต่ในความเป็นจริง 1 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเดียวกันนี้แทบไม่ได้ทำอะไร กล้าๆ กลัวๆ ดังที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ว่าจะ “ไม่เน้นการตอบโต้ เพราะอาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและหวั่นจะกระทบการส่งออก”

นั่นคือการเปิดหัวย้อนทบทวนมาตรการของรัฐบาลที่ผ่านมา โดย สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซึ่งได้ร่วมอภิปรายซักถามต่อการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ (12 ก.ย.) 

การปล่อยปละละเลยที่ผ่านมาของรัฐบาล ย่อมมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้ในปี 2566 ไทยขาดดุลการค้าจีนสูงสุดเป็นประวัติการณ์คือ 1.3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ของ GDP สอดคล้องกับที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประเมินผลกระทบจากสินค้าต่างชาติราคาต่ำ ว่ากระทบมากถึง 25 กลุ่มอุตสาหกรรม จาก 46 กลุ่ม ตั้งแต่ต้นปี 2567 โรงงานปิดตัวเฉลี่ย 111 โรงต่อเดือน กำลังการผลิตในโรงงานหลายแห่งลดต่ำกว่า 30%


3 มิติการรุกคืบทุนต่างชาติยึดหัวหาดเศรษฐกิจไทย

ทุนต่างชาติรุกคืบเศรษฐกิจไทยได้ไหลลื่นด้วยปัจจัย 3 ด้าน

ด้านที่ 1) จากนโยบายรัฐบาลที่เชิญชวนต่างชาติให้มาลงทุน โดยหวังให้นักลงทุนมาอุดหนุนผู้ประกอบการไทย ซื้อ local content จากผู้ประกอบการไทย 

แต่กลับกลายเป็นว่าต่างชาติขนมาทั้งห่วงโซ่อุปทาน เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้า ที่รัฐบาลหวังว่าค่ายรถจะมาซื้อชิ้นส่วนในประเทศ แต่ปรากฏว่ามีการซื้อ local content น้อยมาก ไม่ถึง 20,000 ล้านบาทอย่างที่รัฐบาลเคยอ้างถึง โดยผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ระบุว่ามูลค่าที่เกิดขึ้นจริงมีเพียงหลักร้อยล้านเท่านั้น เพราะมีเพียง 2 ค่ายรถ EV ที่มีแนวโน้มใช้ local content จริงจัง

ด้านที่ 2) สินค้าราคาต่ำจากต่างชาติผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ที่วันนี้ขายทุกอย่าง ที่ผ่านมาคนไทยบริโภคสินค้าจีนมากขึ้นทุกประเภท ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME ไทยที่เน้นขายสินค้าราคาต่ำและต้องพึ่งพาตลาดในประเทศ

ที่น่ากลัวคือสินค้าจำนวนมากมีข้อน่ากังวลเรื่องความปลอดภัย ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องสำอาง อาหารเสริม ซึ่งสินค้าจำนวนมากบนแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่มีทั้ง มอก. และ อย.

ไม่ใช่แค่สินค้าออนไลน์เท่านั้นที่กำลังก่อปัญหา แต่สินค้าผ่านช่องทางปกติก็เช่นกัน อย่างกรณีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหล็กคุณภาพต่ำที่ถูกนำเข้า โดยอาศัยช่องโหว่ระบุพิกัดศุลกากรเป็นพิกัดอื่นเพื่อเลี่ยงภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AD (Anti-dumping) ที่ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม 

ด้านที่ 3) การใช้นอมินี ซึ่งปัจจุบันเกิดขึ้นในทุกธุรกิจในทุกพื้นที่ ตั้งแต่ร้านอาหาร ท่องเที่ยว เกษตร ขนส่ง อสังหาริมทรัพย์ สถาบันการศึกษา ผับ บาร์ ครอบคลุมทุกภาคของประเทศ

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรง อย่างเช่น ในภาคเกษตร ที่วันนี้มีการรุกไปในหลายสินค้า มีทุนต่างชาติทั้งเข้ามาปลูกและมารับซื้อในประเทศไทยเอง เช่น ลำไย ที่วันนี้ที่ลำพูนมีล้งลำไย 5 เจ้าเป็นของทุนต่างชาติ ซึ่งคาดว่าเครือข่ายเดียวกันทั้งหมด ปีหนึ่งลำพูนผลิตลำไย 2 แสนตัน มากสุด 4 แสนตัน 

ถ้าทุนต่างชาติร่วมกันกดราคาเหลือแค่กิโลกรัมละ 1 บาท ก็ทำให้รายได้ของเกษตรกรลำไยในลำพูนหายไปแล้ว 400 ล้านบาท

อีกกรณีตัวอย่างคือธุรกิจขนส่ง สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยเคยยื่นข้อร้องเรียนถึงกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ ว่าปัจจุบันมีรถบรรทุกจากต่างชาติโดยเฉพาะจีน เข้ามาวิ่งในไทยร่วม 10,000 คัน โดยรถเหล่านี้ขนสินค้าที่สั่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์วันละหลายแสนชิ้น ไม่มีมาตรฐาน ราคาต่ำ โดยวิธีการคือต่างชาติมาซื้อหัวบริษัทไทย หรือไม่ก็ตั้งบริษัทเองโดยหานอมินีมาถือหุ้น ทั้งหมดเพื่อให้ได้ใบอนุญาตขนส่ง

ทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงการรุกเข้ามาของทุนต่างชาติในรูปแบบอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น

๐ แอปพลิเคชันรับชำระเงินต่างชาติ ที่ร้านค้าในแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งวันนี้ QR Code ที่ให้สแกนเป็นการโอนเงินไปบัญชีธนาคารในต่างประเทศโดยตรง 

๐ ขนส่งจากต่างชาติ ที่ปัจจุบันมีการดำเนินการการอย่างผิดกฎหมาย ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบก หรือการใช้นอมินี ขนสินค้าราคาต่ำคุณภาพไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศไทยง่ายมาก และมีการโฆษณากันอย่างโจ่งแจ้ง

๐ การใช้วีซ่าผิดประเภท ทั้งฟรีวีซ่าและวีซ่านักเรียนนักศึกษาไปทำงาน ซึ่งปัจจุบันปรากฏในภาพข่าวทั่วไปถึงกรณีการตรวจจับพบคนงานใช้วีซ่าผิดประเภท

๐ สำนักงานบัญชี สำนักงานทนายความ ที่เป็นตัวการสำคัญช่วยจัดตั้งธุรกิจนอมินี ซึ่งปีที่แล้วกรมพัฒนาธุรกิจการค้าตรวจพบ 2 สำนักงานบัญชีทนายความที่เป็นคนช่วยจัดตั้งบริษัท โดย 2 รายนี้จัดตั้งบริษัทมามากกว่า 200 บริษัท

๐ ซุปเปอร์แอพของต่างชาติ ทั้งสั่งอาหาร ของใช้ บริการ Delivery ค่าบริการโอนไปต่างประเทศโดยตรง บางครั้งคนส่งของเป็นคนต่างชาติด้วยซ้ำ


“จากสถานการณ์ทั้งหมด ทำให้เงินไหลออกไปต่างชาติทั้งหมด ผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้จนต้องปิดตัว ผู้บริโภคไทยเสี่ยงอันตรายจากสินค้าคุณภาพต่ำ แรงงานไทยถูกแย่งงาน และในระยะยาว เมื่อผู้ประกอบการไทยตายไปแล้ว โครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศจะมีความเสี่ยงถูกผูกขาดจากธุรกิจต่างชาติ แพลตฟอร์มออนไลน์ขึ้นค่าธรรมเนียมได้ไม่จำกัด คนที่เป็นเจ้าตลาดกำหนดราคาได้ คนซื้อก็ผูกขาดกำหนดราคารับซื้อได้”



5 คำถามที่รัฐบาลต้องตอบ วัดใจความจริงจังแก้ปัญหาทุนต่างชาติ

สิทธิพลชี้ว่าเมื่อสถานการณ์ย่ำแย่และรุนแรงมากขึ้น ผ่านไป 1 ปี รัฐบาลจึงรู้ตัวว่าต้องดำเนินการอะไรสักอย่างแล้ว และได้มีการออกมาตรการมา 5 ข้อ พร้อม 63 แผนปฏิบัติการ ตามมติ ครม. วันที่ 3 กันยายน 2567 

ซึ่ง 5 มาตรการดังกล่าวหากอ่านผ่านๆ ก็ดูดีทุกข้อ แต่ก็ทำให้เกิดคำถามที่รัฐบาลต้องตอบให้ได้เช่นกัน คือ

1) มาตรการเกี่ยวกับการตรวจจับสินค้าไม่มีมาตรฐาน หรือ มอก. ซึ่งในปี 2566 มีการดำเนินคดียึดอายัดสินค้าได้เพียง 200 ล้านบาท จากตลาดอีคอมเมิร์ซที่มีมูลค่าปีหนึ่งหลักแสนล้าน ซึ่งถือว่าน้อยมาก นั่นเป็นเพราะปัจจุบันเรามี มอก. ที่สามารถไปยึด อายัด และดำเนินคดี ได้เพียง 144 มาตรฐาน

คำถามคือในเมื่อสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ก่อตั้งมาหลายปี การเพิ่งมีมาตรฐานออกไปเพียง 144 มาตรฐาน จะเพิ่มทันกับปัญหาหรือไม่? การที่ สมอ. ไม่มีอำนาจดำเนินการกับผู้สั่งซื้อสินค้าตรงจากแพลตฟอร์มต่างประเทศจะทำอย่างไร? การเพิ่มอัตราการเปิดตู้สินค้า จะเพิ่มเท่าไร ป้องกันการหลุดรอดได้แค่ไหน? ปัจจุบันมีการจ่าย “ภาษีเหมา” รัฐบาลจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? คลังสินค้าทัณฑ์บน ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับเก็บสินค้าเพื่อส่งออกโดยไม่ต้องเสียภาษี ปัจจุบันมีความเสี่ยงสินค้าถูกลักลอบเอาออกมาขายในประเทศโดยไม่จ่ายภาษี จะแก้ไขอย่างไร?

2) ปัญหานอมินี ที่ทั้งปี 2566 มีการจับกุมได้ 8 ราย ซึ่งจากการสืบสวนขยายผลโดยดีเอสไอ พบว่า 2 ราย เป็นสำนักงานบัญชีและสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเป็นผู้ถือครองหุ้นถึง 267 บริษัท

คำถามคือเป็นไปได้อย่างไร ที่กรณีนอมินีเกิดขึ้นทั่วบ้านทั่วเมืองขนาดนี้แต่กลับจับได้แค่ 2 ราย?

ปัญหาคือที่ผ่านมาการตรวจสอบนอมินีมีการปฏิบัติที่ทั้งน้อยเกินไป โทษเบาเกินไป คืบหน้าช้า คนทำผิดลอยนวล ส่งผลให้ไม่เกิดความเกรงกลัว จึงพากันทำกันเป็นล่ำเป็นสัน 

3) การกำกับแพลตฟอร์มต่างชาติ ทั้งประเด็นให้มีสำนักงาน และจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหากขายสินค้า 

คำถามคือกรณีกำกับแพลตฟอร์มให้จดทะเบียนนิติบุคคลและมีสำนักงานในไทย ไม่ทราบกฎหมายเศรษฐกิจแพลตฟอร์มดิจิทัลคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว จะเสร็จเมื่อไหร่? ที่กระทรวงพาณิชย์เคยบอกว่าอาจขัดต่อข้อตกลงหรือมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ สรุปแล้วขัดหรือไม่ขัด? และถ้าแพลตฟอร์มละเลยปล่อยให้มีสินค้าไม่มี อย. หรือ มอก. อยู่บนแพลตฟอร์ม กฎหมายลงโทษได้หรือไม่ เช่น สั่งปิดแพลตฟอร์มหรือบางส่วนของแพลตฟอร์มได้หรือไม่?

ส่วนเรื่องมาตรการให้ผู้ค้าต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม คำถามคือถ้าไม่จดจะทำอย่างไร? แพลตฟอร์มต่างชาติที่ยังมาขึ้นทะเบียน VAT on Electronic Service (VES) ไม่ครบ และที่ขึ้นทะเบียนแล้วมีแนวโน้ม แจ้งรายได้ต่ำกว่าความจริง กรมสรรพากรมีอำนาจบังคับหรือไม่? 

4) การให้กรมการค้าต่างประเทศอำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ ในการใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า คำถามคือจะทำอย่างไร? โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้นำเข้าเลี่ยงไปใช้พิกัดศุลกากรอื่นทำให้ไม่ต้องเสียภาษี AD ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการตอบโต้ทางการค้า เช่นนี้รัฐจะทำอย่างไร?

สิทธิพลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ได้สอบถามแนวทางแก้ปัญหาไปยังหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ทั้งกรมการค้าต่างประเทศ กรมศุลกากร และ สมอ. ต่างก็ตอบว่าได้ดำเนินการครบถ้วนตามกรอบอำนาจที่หน่วยงานมีแล้วทั้งสิ้น

5) การช่วยเหลือ SMEs ขยายการส่งออกผ่าน e-commerce คำถามคือจะทำอะไร และต่างจากที่ผ่านมาอย่างไร? ตามแผนนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยบูรณาการแผนงานและส่งเสริมพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ซึ่งในปี 2566 สสว. มีโครงการสร้างความพร้อมให้ SMEs ที่เน้นเรื่องความเป็นสากล ใช้งบประมาณไปจำนวนมาก แต่จากการประเมินพบว่าความคุ้มค่าต่ำกว่างบประมาณที่ใช้ คำถามคือ สสว. จะทำอะไรได้ดีกว่าเดิม?

ในเรื่องขยายการส่งออกสินค้าไทยผ่าน e-commerce จะทำอะไรและทำอย่างไร? จะป้องกันการปลอมแปลงสินค้าไทยที่ขายกันอย่างเกลื่อนกลาดอยู่บนแพลตฟอร์มของต่างชาติอย่างไร? จะเอาสินค้าใหม่ๆ ไปบุกตลาดต่างชาติอย่างไร? 


1 ปีแห่งความสูญเปล่า : รัฐบาลจะปกป้องผลประโยชน์ผู้ประกอบการไทยได้กี่โมง?

สิทธิพลชี้ว่านอกจาก 5 มาตรการที่รัฐบาลออกมาแล้ว สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วน ก็คือปัจจัยสนับสนุน 

ทั้งแอปพลิเคชันโอนเงินไปต่างชาติ ขนส่งผิดกฎหมาย ใช้วีซ่าผิดประเภท กำจัดสำนักงานบัญชีหรือทนายความที่ให้การสนับสนุนนอมินี กำกับแอปพลิเคชันที่ให้บริการธุรกิจต่างชาติอย่างเหมาะสม เพื่อลดความรุนแรง และตัดวงจรปัญหา

และสุดท้าย รัฐบาลควรถอดบทเรียนจากมาตรการที่ต่างประเทศที่ใช้ในการดูแลผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศล้วนมีมาตรการพิเศษเพื่อช่วยผู้ประกอบการ เช่น สหรัฐอเมริกาที่ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าสินค้าจากจีนหลายรายการ หรืออินโดนีเซียที่ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างชาติหลายรายการ ทั้งสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องสำอาง ซึ่งเราสามารถถอดบทเรียนมาปรับได้ตามความเหมาะสม

คำถามสุดท้ายที่ประชาชนและภาคเอกชนฝากมา คือสิ่งที่รัฐบาลระบุไว้ในคำแถลงนโยบายว่า “จะปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย” คำถามคือกี่โมง?

บริจาคให้พรรคประชาชน

สนับสนุนให้เราได้ทำงานสุดกำลังและยั่งยืน

ยอดบริจาคล่าสุด

... บาท

เราต้องการเป็นพรรคการเมือง ที่พร้อมตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำงานอย่างมีอิสระ ไม่เป็น และไม่อยู่ในบงการของใคร เงินบริจาคจึงเป็นทุนทำงานที่สำคัญยิ่งของเรา

บริจาคให้พรรค

ยอดผู้ขอสมัครเป็นสมาชิกพรรค

มาจากประชาชน • เป็นของประชาชน • ทำเพื่อประชาชน

เป้าหมายของเรา

100,000 คน

Login

พรรคประชาชน

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า